ประโยชน์ของกล้วย
ประโยชน์ของกล้วย
คุณค่าทางโภชนาการของกล้วย
ลดระดับคอเลสเตอรอล การควบคุมระดับคอเลสเตอรอลไม่ให้สูงเกินไปเป็นหนึ่งในปัจจัยที่จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอื่น ๆ ตามมา เช่น โรคเบาหวานและโรคหลอดเลือดหัวใจ เหตุที่เชื่อกันว่ากล้วยอาจมีคุณสมบัตินี้ เนื่องจากกล้วยเป็นแหล่งเส้นใยอาหารที่ดีต่อสุขภาพ โดยกล้วยขนาดกลางนั้นให้เส้นใยอาหารประมาณ 3 กรัม ซึ่งเทียบเท่ากับ 10 เปอร์เซ็นต์ของเส้นใยอาหารที่ร่างกายคนเราต้องการในแต่ละวัน เมื่อรับประทานจึงรู้สึกอิ่ม แต่กลับให้ปริมาณแคลอรีเพียงเล็กน้อย และช่วยควบคุมระดับคอเลสเตอรอลไม่ให้สูงเกินไปได้
สำหรับการศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการลดระดับคอเลสเตอรอลของกล้วย มีการให้อาสาสมัครที่มีภาวะคอเลสเตอรอลสูงจำนวน 30 คน และผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 จำนวน 15 คน รับประทานกล้วยเป็นอาหารเช้าในปริมาณ 250 หรือ 500 กรัม ทุกวัน นาน 12 สัปดาห์ ผลปรากฏว่าระดับน้ำตาลและคอเลสเตอรอลในเลือดของกลุ่มที่มีคอเลสเตอรอลสูงลดลงอย่างมีนัยสำคัญหลังจากรับประทานกล้วยไปแล้วเป็นเวลา 2 ชั่วโมง ส่วนในผู้ป่วยโรคเบาหวานนั้นไม่พบการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตาลหรือไขมันในเลือดมากนัก แต่พบว่าระดับของฮอร์โมนอดิโพเนคตินที่ทำหน้าที่ควบคุมน้ำตาลและไขมัน ซึ่งมักจะลดลงต่ำในผู้ป่วยโรคเบาหวานนั้นกลับเพิ่มขึ้น ส่วนด้านความปลอดภัย การบริโภคกล้วยเป็นประจำวันละ 250 กรัม ไม่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วยเบาหวานและผู้ป่วยภาวะคอเลสเตอรอลสูงแต่อย่างใด จากข้อสรุปดังกล่าว เชื่อว่าหากมีงานวิจัยที่ดีเพิ่มเติมต่อไปคงจะสามารถระบุได้ว่าการรับประทานกล้วยช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลได้ผลจริงหรือไม่
โรคเบาหวาน งานวิจัยหนึ่งศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการควบคุมน้ำหนักและระดับความไวต่ออินซูลินในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ด้วยการเปรียบเทียบระหว่างการใช้พลังงานจากกล้วยที่เก็บโดยรวมจากทั่วประเทศกับนมถั่วเหลืองอย่างละ 24 กรัมที่นำมาละลายในน้ำ 240 มิลลิลิตร ให้ดื่มทุกวันเป็นเวลา 4 สัปดาห์ โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ ช่วยให้ผู้ป่วยโรคนี้มีน้ำหนักตัวลดลง ทั้งยังส่งผลให้อินซูลินในเลือดและความต้านทานต่ออินซูลินลดต่ำกว่าปกติ แต่ก็ลดลงไม่มากนักเมื่อเทียบกับอีกกลุ่มที่รับประทานนมถั่วเหลือง
ดังนั้น การศึกษานี้จึงไม่อาจยืนยันได้ว่าการรับประทานกล้วยเป็นอาหารช่วยเสริมเส้นใยอาหารจะช่วยให้อาการของโรคเบาหวานดีขึ้น นอกจากนี้กล้วยยังเป็นหนึ่งในผลไม้ที่ผู้ป่วยเบาหวานควรรับประทานอย่างระมัดระวัง เนื่องจากมีคาร์โบไฮเดรตสูง เมื่อเปลี่ยนเป็นน้ำตาลจึงอาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้ แต่ไม่ถึงกับต้องหลีกเลี่ยง ผู้ป่วยเบาหวานจะสามารถรับประทานกล้วยในขนาดปานกลางเป็นของว่างได้ประมาณครึ่งลูก
ลดน้ำหนัก สูตรลดความอ้วนที่แนะนำกันมากในอินเทอร์เน็ตก็คือการรับประทานกล้วยแทนมื้ออาหาร โดยเชื่อว่ากล้วยนั้นช่วยให้อิ่มท้อง ให้พลังงานต่อร่างกายได้อย่างดี ในขณะที่มีแคลอรีต่อลูกไม่มาก อย่างไรก็ดี ปัจจุบันไม่มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือยืนยันได้ว่ากล้วยช่วยลดน้ำหนักได้จริง ที่สำคัญวิธีนี้อาจไม่ใช่สิ่งดีต่อสุขภาพ เพื่อความปลอดภัยและได้ผลดีต่อสุขภาพอย่างแท้จริง ผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักควรรับประทานอาหารให้ครบถ้วนเพียงพอ และไม่ลืมออกกำลังกายเผาผลาญไขมันควบคู่ไปด้วยอย่างสม่ำเสมอ
ควบคุมระดับความดันโลหิต อาหารที่มีเส้นใยอาหารนั้นสามารถช่วยลดระดับความดันโลหิตได้ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือกล้วย นอกจากนี้ก็ยังเชื่อว่าสารโพแทสเซียมที่พบในกล้วยจะช่วยให้ร่างกายขับโซเดียมออกมาทางปัสสาวะได้มากขึ้น ส่งผลดีต่อระดับความดันโลหิตที่ลดลงตามไปด้วย
ประโยชน์ของกล้วยในด้านนี้ มีการศึกษาชิ้นหนึ่งที่เกี่ยวข้องเผยว่าเมื่อเปรียบเทียบระหว่างอาสาสมัครที่รับประทานอาหารเสริมโพแทสเซียมเพิ่มในมื้ออาหาร 36 มิลลิโมล ซึ่งเทียบเท่ากับการรับประทานกล้วย 2.5 ลูก กับอีกกลุ่มที่ได้รับโพแทสเซียม 6 มิลลิโมล พบว่ากลุ่มที่ได้โพแทสเซียมสูงกว่ามีระดับความดันโลหิตที่ลดต่ำลงมากกว่า
อย่างไรก็ตาม แม้งานวิจัยดังกล่าวจะพบผลลัพธ์ที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการลดระดับความดันโลหิต แต่ด้วยการศึกษาด้านนี้ยังมีไม่มากพอ จึงยากที่จะสรุปได้ว่ามีประสิทธิภาพจริง นอกจากนี้ยังไม่สามารถยืนยันว่าจะได้ผลเช่นเดียวกันเมื่อรับประทานกล้วย 2.5 ลูก แทนอาหารเสริมโพแทสเซียม คงต้องรอผลการศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ของกล้วยต่อการลดระดับความดันโลหิตโดยตรงกันต่อไป
ท้องเสีย เชื่อกันว่ากล้วยเป็นผลไม้ที่ดีต่อสุขภาพท้อง เพราะคาร์โบไฮเดรตจากกล้วยที่ร่างกายไม่สามารถย่อยสลายได้นั้นเป็นแหล่งอาหารชั้นดีของเหล่าจุลินทรีย์โปรไบโอติกซึ่งเป็นแบคทีเรียชนิดดีที่พบในลำไส้ ช่วยให้จุลินทรีย์ชนิดนี้เพิ่มจำนวนขึ้น นอกจากนี้ยังมีหลักฐานที่กล่าวว่าจุลินทรีย์โปรไบโอติกสามารถช่วยลดอาการท้องเสียอันเป็นผลข้างเคียงที่เกิดจากการรับประทานยาปฏิชีวนะบางชนิดด้วย
งานวิจัยชิ้นหนึ่งศึกษาถึงประโยชน์ต่อการรักษาอาการท้องเสียของกล้วย โดยให้เด็กชาย 57 คนที่มีอาการท้องเสียอย่างต่อเนื่องนาน 14 วันขึ้นไป รับประทานข้าวเป็นอาหารหลักกับกล้วยดิบที่ผ่านการปรุงให้สุก ข้าวกับสารสกัดจากเปลือกกล้วยอย่างเพคติน (Pectin) หรือข้าวปกติเพียงอย่างเดียว ผลการศึกษาชี้ว่ากล้วยดิบปรุงสุกและเพคตินต่างมีประสิทธิภาพต้านอาการท้องเสียด้วยการช่วยให้ภาวะลำไส้เล็กรั่วดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การนำกล้วยมารักษาอาการท้องเสียยังไม่เป็นที่ยอมรับเช่นเดียวกับอีกหลาย ๆ โรค
อ้างอิง https://www.pobpad.com/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%82%E0%B8%A2%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B9%8C%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%95
อ้างอิง https://www.pobpad.com/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%82%E0%B8%A2%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B9%8C%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%95
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น